top of page

เราสูญเสียอะไรเวลาที่เราสูญเสียการได้ยิน

  • 5 ก.พ. 2565
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 18 ต.ค. 2565



อันที่จริงแล้วเวลาที่เรามีการสูญเสียการได้ยิน (แบบประสาทหูเสื่อม) มันไม่ใช่แค่ เราได้ยินเสียงเบาลงเหมือนที่คนอื่นเข้าใจกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคือ เราสูญเสียความสามารถในการฟัง หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งอย่างไป ซึ่งส่งผลต่อการแปลความหมายและความเข้าใจของเราเวลาที่คุยกับคนอื่น ในบทความนี้ผมตั้งใจจะเล่าเกี่ยวกับต้นตอของปัญหาเพื่อที่เราจะได้จัดการกับมันได้ด้วยความเข้าใจ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ตอนตามจำนวนปัญหานะครับ แต่ก่อนที่เราจะไปดูว่าต้องจัดการปัญหาอย่างไร เรามาดูว่าความสามารถอะไรของเราที่ลดลงไปบ้างเวลาที่เรามีการสูญเสียการได้ยินนะครับ


4 ความสามารถในการฟังที่ลดลง เวลาที่เราสูญเสียการได้ยิน


  • การรับรู้เสียงที่ลดลง (decreased audibility)

  • การรับรู้ความแตกต่างของเสียงตั้งแต่ เบาที่สุดไปถึงดังที่สุดของเราแคบลง (decreased dynamic range)

  • การรับรู้ความแตกต่างของความถี่ต่าง ๆ ลดลง (decreased spectral resolution)

  • การรับรู้ความแตกต่างของเสียงเมื่อเวลาผ่านไปลดลง (decreased temporal resolution)




ตอนที่ 1

การรับรู้ความแตกต่างของเสียงตั้งแต่ เบาที่สุดไปถึงดังที่สุดของเราแคบลง

(decreased dynamic range)


หูของเราโดยปกติแล้วทำหน้าที่เป็นเหมือนไมโครโฟนที่ดีมาก ๆ มันสามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศที่เบาบางมาก 1 ไมโครปาสคาล หรือ 0 dB SPL ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศที่รุนแรงมาก 120 dB SPL (อันหลังมีพลังงานมากกว่าอันแรกล้านเท่า) ซึ่งไมโครโฟนที่มีช่วงของการรับเสียงที่กว้างขนาดนี้ไม่น่าจะหาได้


อันที่จริงหูของเราสามารถรับรู้เสียงที่ดังกว่า 120 dB SPL ก็ยังได้แต่จะเริ่มเกิดความเสียหายขึ้นอย่างถาวร ตามหลักแล้วถ้าเราเพิ่มความดังมากขึ้นไปเรื่อย ๆ หูของเราจะได้ยินเสียงจนกระทั่งถึงลมหายใจสุดท้ายของเราเลยทีเดียวครับ (threshold of death คือ 160 dB SPL)


นั่นแปลว่าข้อมูลทางอะคูสติกบนโลกนี้ (acoustical properties หรือสิ่งที่ทำให้เราบอกได้ว่าเสียงอะไรเป็นเสียงอะไร) มีพื้นที่เหลือเฟือในการเข้ารหัสแล้วเดินทางผ่านอากาศมาที่หูและไปที่สมองของเรา เช่น เสียงใบไม้ร่วงลงพื้น กับ เสียงปืน แม้จะดูเหมือนแตกต่างกันมาก แต่ถ้าเราดูที่สเปกตรัมของมันจะเห็นว่ามันไม่ได้ต่างอะไรกันมากมาย แค่เสียงหนึ่งเบากว่าอีกเสียงหนึ่งมาก (ทั้งใบไม้ร่วงลงพื้น กับ เสียงปืน เป็น transient noise หรือกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แล้วหายไป) แต่ทั้งสองเสียงนี้ถูกเข้ารหัสไว้ที่ความดังต่างกัน และช่องว่างระหว่างเสียงทั้งสองนี้เองที่เรียกว่าไดนามิกซ์เรนจ์


กลับมาที่การสูญเสียการได้ยิน สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคือความสามารถในการรับรู้เสียงที่เบาของเราลดลงหรืออาจจะไม่เหลืออยู่เลย แต่สิ่งที่ทำให้มันยุ่งยากขึ้นไปอีกคือ เสียงที่ดังเรากลับได้ยินมันดังเท่าเดิม ก็แปลว่าเรายังได้ยินเสียงปืนดังเท่าเดิมแต่ไม่ได้ยินเสียงใบไม้ตกลงพื้นแล้ว เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้นผมขอเพิ่มเสียงที่มีลักษณะเดียวกัน (transient) แต่ถูกเข้ารหัสไว้ที่ความดังปานกลาง นั่นคือ เสียงลูกโป่งแตก ดังนั้นถ้าการสูญเสียการได้ยินของเราทำให้เราไม่ได้ยินเสียงใบไม้ร่วง แต่ได้ยินเสียงลูกโป่งและเสียงปืน นั่นแปลว่า ช่วงการรับเสียงของเราแคบลงกว่าเดิมถูกต้องไหมครับ


ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนที่ใช้เครื่องช่วยฟังก็คือ เครื่องช่วยฟังต้องขยายเสียงใบไม้ร่วงให้เราได้ยินที่ความดังเดียวกับเสียงลูกโป่ง โดยที่ไม่ต้องขยายเสียงปืนเลย แล้วเสียงลูกโป่งมันต้องขยายแค่ไหนถึงจะพอดี และทำให้เราสามารถบอกความแตกต่างของทั้ง 3 เสียงได้

นี่คือตัวอย่างของปัญหาที่เราต้องเจอเมื่อเรามีการสูญเสียช่วงของการรับรู้เสียงหรือไดนามิกซ์เรนจ์ครับ


ขออนุญาตเขียนทีละตอนนะครับ จบแล้วจะมาเล่าเกี่ยวกับวิธียัดข้อมูลลงไปในพื้นที่แคบๆที่เหลืออยู่นะครับ

 
 
 

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
เครื่องช่วยฟังพังเพราะความชื้น ซ่อมไม่ได้ด้วย

บทความนี้ ผมตั้งใจเล่าเรื่อง “ความชื้น” แบบจริงจัง เพราะว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนชื้นแบบเรา อาจไม่ทันรู้ตัวว่าเรื่องนี้มันสำคัญพอ ๆ...

 
 
 

Komentarze


ติดต่อเรา

ขอบคุณครับผม

เครื่องช่วยฟังยิ้ม เพื่อการฟังอย่างมีความสุข

bottom of page