เครื่องช่วยฟังพังเพราะความชื้น ซ่อมไม่ได้ด้วย
- วิชนาถ โกมลกนก
- 30 เม.ย.
- ยาว 1 นาที
บทความนี้ ผมตั้งใจเล่าเรื่อง “ความชื้น” แบบจริงจัง เพราะว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนชื้นแบบเรา อาจไม่ทันรู้ตัวว่าเรื่องนี้มันสำคัญพอ ๆ กับเรื่องอื่นเลยครับโดยเฉพาะกับ “เครื่องช่วยฟัง” ที่ต้องอยู่ใกล้ตัวเราแทบทั้งวัน เจอกับอากาศที่ชื้น เหงื่อ ฝน หรือแม้แต่ไอน้ำในห้องน้ำ ล้วนเป็นตัวการที่อาจทำให้เครื่องเสียได้เร็วกว่าที่ควรจะเป็น
(ส่วนตัวผมคิดว่า ถ้ารวม ๆ ค่าซ่อมเครื่องช่วยฟังทั้งหมดที่เสียเพราะความชื้น น่าจะเอาไปสร้างบ้านได้หลายหลังเลย)
ก่อนอื่น...เรามาทำความเข้าใจคำว่า “ความชื้น” กันก่อนดีไหมครับ ผมอยากให้ลองนึกภาพ “หยดน้ำ 1 หยดบนช้อน”
ความชื้นที่อยู่บนตัวเครื่อง ก็เหมือนหยดน้ำหยดนั้น
ส่วนความชื้นในอากาศ ก็เหมือนสภาพอากาศในแต่ละวัน
ทีนี้ลองนึกภาพวันแดดแรง กับวันอากาศอบอ้าวเหมือนฝนจะตก คิดว่าวันไหนที่ “หยดน้ำบนช้อน” จะแห้งเร็วกว่ากัน ถ้าเราวางช้อนทิ้งไว้
คำตอบง่าย ๆ เลยคือ วันแดดแรง หยดน้ำจะระเหยได้เร็วกว่าซึ่งก็เหมือนกันกับเครื่องช่วยฟัง —หยดน้ำบนเครื่องเป็นตัวการทำให้เครื่องพัง แต่ถ้าอากาศรอบข้างชื้น หยดน้ำหยดนั้นมันก็ไม่ระเหยไปเองง่าย ๆ
แล้วเราจะทำยังไงดีล่ะ?สมมติว่ามีหยดน้ำอยู่บนช้อน เราจะมีวิธีไหนที่จะทำให้มันแห้งได้บ้าง?
เอาผ้าเช็ด
เอาพัดลมเป่า
สะบัดช้อน
เอาปากเป่า
เอาไปตากแดด
ใช้ไดร์เป่าผม
หาอะไรพัด ๆ
วิธีเพียบเลยนะครับ แต่ไม่เห็นจะมีใคร "เอาช้อนไปใส่กล่องที่มีสารดูดความชื้น" เลย ทำไมอ่ะ?
แล้วทำไมพอเป็นเครื่องช่วยฟัง เราถึง...?@#$%#@%
การใส่เครื่องช่วยฟังไว้ในกล่องเก็บที่ใส่สารดูดความชื้นไว้ มันไม่ใช่ทางออกที่เเหมาะกับเครื่องช่วยฟังที่มีถิ่นอาศัยแถวเส้นศูนย์สูตรเท่าไหร่ครับ
จริง ๆ แล้ว...สารดูดความชื้นมันทำหน้าที่คล้ายแอร์ครับคือมันช่วยควบคุมความชื้นในอากาศ ไม่ให้กลับมาเกาะเครื่องอีก
แต่ถ้าเครื่องยังเปียกอยู่ตั้งแต่ต้น ต่อให้เราเปิดแอร์ทั้งวัน หยดน้ำก็ไม่ระเหยไปหรอกครับ สู้การเอาไปวางหน้าพัดลมไม่ได้เลย
ดังนั้น ลำดับที่ถูกต้องควรเป็นแบบนี้:
เช็ด เป่า ผึ่งหรือทำอะไรก็ได้ ให้ความชื้นที่อยู่ “บนตัวเครื่อง” หายไปก่อน
จากนั้นค่อยเก็บเครื่องไว้ในกล่องที่มีสารดูดความชื้น เพื่อควบคุม “ความชื้นในอากาศ” ไม่ให้ย้อนกลับมาอีก
Comments