top of page

เมื่อเสียงที่ไม่ได้อยากฟัง มันดังกว่าทุกสิ่งอย่าง (SNR ตอนที่ 2)

  • 28 พ.ย. 2564
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 29 พ.ย. 2564




ปัญหาคลาสสิกของการใช้เครื่องช่วยฟังคือ การฟังในที่ ๆ มีเสียงรบกวน แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะกับเราที่มีปัญหาการได้ยิน แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกคน ในทุกวัน และทุกสถานการณ์

รวมทั้งคนที่มีการได้ยินระดับดีเยี่ยมด้วยเช่นกันครับ


เราเคยสงสัยไหมครับว่าทำไม...

  • นักข่าวถึงต้องถือไมโครโฟนแล้วพยายามแย่งกันเอาไปจ่อที่ปากของท่านนายกฯ

  • ผู้ประกาศข่าวที่น่าจะอยู่ในห้องส่งเงียบต้องมีไมโครโฟนเล็ก ๆ ติดไว้ที่เสื้อ

  • รถยนต์ของเราต้องปิดประตู ปิดกระจกได้สนิทขนาดนั้น

  • คนที่ขึ้นรถไฟฟ้าต้องใส่หูฟังเพื่อฟังเพลง

หรือทำไม...

  • นักข่าวไม่ยืนกันให้เป็นระเบียบเวลานายก ฯ ให้สัมภาษณ์

  • กล้องที่ใช้ถ่ายทำรายการมันถึงไม่มีมีไมโครโฟนในตัว ขนาดมือถือเรายังมีเลย

  • ขับรถเปิดกระจกฟังเพลงตอนที่ไปเที่ยวไม่ได้

  • เราถึงไม่เปิดเพลงจากลำโพงมือถือบนรถไฟฟ้าไปพร้อม ๆ กัน

จริงไหมครับ ที่ปัญหาการเรื่องเสียงที่ อยากฟัง ไม่อยากฟัง มันอยู่กับเราทุกคนมาตลอดเพียงแต่เราไม่ได้มองมันในมุมที่เป็นอุปสรรค จนกระทั่งเรามีปัญหาการได้ยิน ... ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?



บทความแนะนำ SNR เรื่องที่ต้องรู้สำหรับคนใช้หูฟัง 
สาเหตุที่ทำให้เราต้องการ SNR ที่มากกว่าคนอื่นเมื่อเรามีปัญหาการได้ยินรอติดตามเร็ว ๆ นี้นะครับ


ตอนที่แล้วที่เราได้คุยกันถึงสาเหตุ คราวนี้เลยอยากจะมาเล่าถึงวิธีการจัดการปัญหาแบบชิล ๆ

(เหมือนที่นักข่าว ผู้โดยสารรถไฟฟ้า หรือใครที่มีรถทำกัน) ให้ฟังนะครับ



เวลาที่เสียงอื่น ๆ มันดังกว่าเสียงที่เราอยากฟัง

มันมักเกิดขึ้นในเวลาที่เราต้องฟังเรื่องสำคัญเสมอไม่รู้ทำไม แต่มันมีเทคนิคในการจัดการกับปัญหานี้อยู่ไม่กี่อย่าง ประมาณนี้ครับ

  1. ลดระยะห่าง

  2. วางแผนล่วงหน้า / ควบคุมสภาพแวดล้อม

  3. ปรับคุณภาพเสียงให้ดีตั้งแต่ที่ต้นทาง

  4. ใช้เทคโนโลยีช่วย



ลดระยะห่าง - อย่างที่เรารู้กันจากตอนที่แล้วว่ายิ่งเราอยู่ห่างจากคนที่พูดกับเรามากเท่าไหร่ เสียงของเขาก็จะเบาลง เบาลง จนกระทั่งคำพูดของเขาดังเท่ากับเสียงอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นแบบนี้คงฟังยากทีเดียว ดังนั้นหากเป็นไปได้พยายามลดระยะห่างระหว่างเขากับเราให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการหันหน้ามาคุยกันตรง ๆ ด้วยนะครับ เพราะเส้นทางที่สั้นที่สุดสำหรับเสียงในการเดินทางมาถึงหูของเราก็คือ

เส้นตรงที่ลากจาก ปากเขา มาที่ หูเรา



วางแผนล่วงหน้า / ควบคุมสภาพแวดล้อม - การที่เรารู้ว่าเราต้องเข้าไปในสถานที่ลักษณะไหน ต้องไปเจอกับใครล่วงหน้ามีประโยชน์มากในการที่จะช่วยให้เราสามารถนึกภาพไว้ก่อนว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟังของเรามากที่สุด เช่น

ถ้าผมรู้ว่าเย็นนี้ผมต้องไปทานข้าวกับลูกค้าและเจ้านายที่ร้านอาหารไทยในตึกออฟฟิศ
ผมสามารถโทรไปจองโต๊ะที่อยู่มุมด้านในฝั่งกระจกที่ค่อนข้างเงียบและมีแสงสว่างเพียงพอ เพราะเวลาที่ผมไปถึงก่อนเวลา 10 นาที ผมจะเข้าไปนั่งในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นปากของลูกค้าและเจ้านายได้ถนัดที่สุด

และจะแอบไป tips พนักงานในร้านไว้ก่อน เพื่อบอกเค้าว่าผมมีปัญหาการได้ยิน ตอนที่รับออเดอร์ให้รับจากสองท่านที่นั่งตรงข้ามผมได้เลย ส่วนผมจะรับเป็นข้าวผัดน้ำพริกกับโค้ก


ถ้ามีอะไรคุยกับผมสะกิดผมก่อนนิดนึงมันจะช่วยให้ผมได้เตรียมตัวและจะฟังได้ง่ายขึ้นมาก

ขอบคุณนะครับ :)



ผมเชื่อว่าอาหารค่ำของผมจะผ่านไปด้วยดี หรืออย่างน้อยก็ดีกว่าการที่ผมไปถึงร้านแล้วปล่อยให้สถานการณ์ต่าง ๆ กำหนดว่าผมจะฟังได้หรือไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ผมสามารถจัดการมันได้ล่วงหน้า

ปล. มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการที่นักข่าวไปเตรียมอุปกรณ์ถ่ายทำก่อนเวลาที่ท่านนายก ฯ จะเดินทางมาถึง จริงไหมครับ



ปรับคุณภาพเสียงให้ดีตั้งแต่ที่ต้นทาง - คุณคิดว่าแม่ค้าขายข้าวแกง หรือพี่วินมอเตอร์ไซค์จะพูดกับผมแตกต่างกันอย่างไรระหว่างการที่เขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการได้ยินและเครื่องช่วยฟังของผม กับ ถ้าผมบอกเขาก่อนเลยว่า พี่ครับ ผมมีปัญหาเกี่ยวกับหูแต่ผมมีเครื่องช่วยฟังครับ ถ้าพี่ช่วยพูดกับผมช้าลงนิดนึงจะช่วยให้ผมฟังพี่ได้ง่ายขึ้นมาเลยครับ ขอบคุณพี่ล่วงหน้า รบกวนด้วยนะครับ :)

คิดเหมือนผมไหมว่า อันหลังน่าจะฟังง่ายกว่ากันเยอะเลย (เทคนิคการเพิ่มคุณภาพเสียงตั้งแต่ต้นทางคือ ช่วยให้คนคุยกับเราเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการได้ยินมากขึ้น) ผมไม่เชื่อว่าจะมีคนที่ไม่ยอมปรับวิธีการพูดนิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อช่วยให้การฟังของเราเป็นไปอย่างราบรื่นครับ




ใช้เทคโนโลยีช่วย - เทคโนโลยีของเครื่องช่วยฟังตลอดประวัติศาสตร์ของเครื่องช่วยฟังคือความพยายามในการทำให้เสียงคำพูดชัดขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงอื่น ๆ ด้วย แต่ดูเหมือนจะมีเพียงไมโครโฟนที่สามารถรับเสียงเป็นมุมแคบ ๆ แทนที่จะรับเสียงจากทุกทิศทางที่พอจะช่วยให้เสียงที่เราไม่อยากฟังมันเบาลงไปบ้าง ส่วนเทคโนโลยีสำหรับลดเสียงรบกวนอื่น ๆ อาจจะมีประโยชน์ในเรื่องของความสบายเสียมากกว่า

(อาจจะพอช่วยให้เราฟังง่ายขึ้นบ้างแต่ไม่ได้เปลี่ยน SNR ) ซึ่งเทคโนโลยีในส่วนนี้ก็แล้วแต่แบรนด์ไหนจะเรียกว่าอะไร แต่ถ้าเอาตามหลักการแล้วก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง (อัลกอริทึมประมวลผล หรือ DSP)


เช่น

  • Autosensitivity - เหมือนมีคนตัวเล็ก ๆ คอยปรับความไวในการรับเสียงของไมโครโฟนให้สัมพันธ์กับความดังของเสียง ณ ขณะนั้น

  • Adaptive dynamic range optimization - เหมือนเอาเสียงที่เข้ามาเทใส่เครื่องแยกความถี่ (นึกถึงเครื่องคัดขนาดลำไยก็ได้ครับ ลูกเล็กไปนี่ ลูกใหญ่ไปนั่น) ก่อนที่จะมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลว่าหน้าตาของเสียงที่เข้ามามันเหมือนเสียงคนพูดหรือเหมือนอย่างอื่น แล้วค่อยปรับเพิ่มหรือลดให้เหมาะสม

  • Autogain control - คล้าย ๆ กับ Autosensitivity แต่เป็นการเพิ่มลด กำลังขยายแทนที่จะเป็นความไวในการรับเสียง

  • Directional/Adaptive directional microphone - ไมโครโฟนที่สามารถรับเสียงน้อยในทิศทางที่ไม่มีคนพูด เพื่อเพิ่มความแตกต่างของเสียงคนพูดและเสียงอื่น ๆ ให้มากขึ้นครับ (อันนี้ช่วยเพิ่ม SNR ได้จริงครับ)

และอีกอันที่ผมคิดว่ามีประโยชน์แต่เราไม่ค่อยใช้กันมากนักคือ

การเอาไมโครโฟนไปฝากไว้กับคนที่กำลังพูดเลย







โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
เครื่องช่วยฟังพังเพราะความชื้น ซ่อมไม่ได้ด้วย

บทความนี้ ผมตั้งใจเล่าเรื่อง “ความชื้น” แบบจริงจัง เพราะว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนชื้นแบบเรา อาจไม่ทันรู้ตัวว่าเรื่องนี้มันสำคัญพอ ๆ...

 
 
 

Comments


ติดต่อเรา

ขอบคุณครับผม

เครื่องช่วยฟังยิ้ม เพื่อการฟังอย่างมีความสุข

bottom of page