เครื่องช่วยฟังราคาเท่าไหร่ - เครื่องแพง เครื่องถูก เอาเครื่องไหนดี?
- วิชนาถ โกมลกนก
- 24 ธ.ค. 2564
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 29 ก.ย. 2567

“เครื่องช่วยฟังในปัจจุบันเป็นอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และสามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนที่มีปัญหาการได้ยินดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่นั่นไม่ได้แปลว่าการใช้เครื่องช่วยฟังที่มีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนจะทำให้คุณฟังได้ดีกว่าเครื่องช่วยฟังที่มีแค่เทคโนโลยีพื้นฐาน" - ดร. ค็อกซ์ มหาวิทยาลัยเมมฟิส
เครื่องช่วยฟังราคาเท่าไหร่
บทความนี้จะไม่รีวิวเทคโนโลยีของเครื่องช่วยฟังแต่จะนำกรณีศึกษาของ ดร. ออลเซน จากอริโซน่ามาเล่าให้ฟังนะครับ ส่วนตัวแล้วผมไม่คิดว่าการรีวิวอุปกรณ์มันมีประโยชน์เท่าไร เนื่องจากแต่ละคนมีการได้ยินไม่ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีการได้ยิน เราใช้แล้วได้ผลไม่จำเป็นต้องได้ผลกับคนอื่น (แต่เรื่องอื่นอย่างเช่น การบริการ ราคา ฯลฯ อันนี้เหมาะกับการรีวิวครับ)
เครื่องช่วยฟังไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหน ผู้ผลิตมักจะแบ่งรุ่นตามความซับซ้อนของเทคโนโลยี อย่างในรุ่นท็อปที่ราคาเป็นแสนก็จะมีเทคโนโลยีจัดเต็มให้มาครบ ส่วนรุ่นพื้นฐานฟีเจอร์ต่าง ๆ ก็จะถูกตัดออกไป แต่ก็มีราคาต่ำกว่ามาก แล้วนั่นแปลว่า...
ถ้าเราซื้อรุ่นท็อป เราก็จะฟังได้ชัดกว่าเราซื้อรุ่นพื้นฐานใช่ไหมนะ
ทำไมคนที่ได้ทดลองเครื่องช่วยฟังรุ่นท็อป เปรียบเทียบกัยรุ่นพื้นฐาน ถึงมั่นใจว่าตัวเองฟังได้ดีกว่าเมื่อใช้รุ่นท็อป คำตอบแบบมักง่ายคือ เพราะเรารู้ว่ามันคือรุ่นท็อป หรือ เพราะเรารู้ว่ามันคือรุ่นพื้นฐานเหมือนกับกระเป๋า Gucci ที่เราจะรู้สึกว่าคุณภาพของมันลดลงทันทีเมื่อเรารู้ว่ามันเป็นของปลอม
แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงเหรอ? เทคโนโลยีที่พัฒนากันมาไม่มีประโยชน์จริงเหรอ?
คำถามเหล่านี้ทำให้งานศึกษาของ ดร. ออลเซนน่าสนใจขึ้นมา สิ่งที่ ดร. ออลเซนทำคือการแบ่งคนที่มาใส่เครื่องช่วยฟังที่คลินิกของเขาที่มี อายุ เพศและระดับการได้ยินใกล้เคียงกันออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มจะได้ทดลองใช้เครื่องช่วยฟังรุ่นท็อปและรุ่นพื้นฐานอย่างละสองสัปดาห์ โดยที่ไม่รู้ว่าเครื่องที่ใช้เป็นรุ่นท็อปหรือรุ่นพื้นฐาน (รู้แค่มีเครื่องให้ลองสองรุ่น ดูว่าอันไหนฟังดีกว่ากัน) ระหว่างทางมีการเก็บข้อมูลทั้งในด้านความคาดหวัง คุณภาพการฟัง การฟังในเสียงรบกวน (COSI, SSQ, HINT) กลุ่มนึงจะได้ทดลองเครื่องรุ่นท็อปก่อนและอีกกลุ่มจะได้ทดลองเครื่องรุ่นพื้นฐานก่อน เมื่อครบสองสัปดาห์ทุกคนจะกลับมาที่คลินิกเพื่อสลับเครื่องเป็นอีกรุ่น สุดท้ายทั้งสองกลุ่มจะได้เลือกเครื่องช่วยฟังรุ่นที่ตัวเองต้องการใช้

ปรากฏว่าผลลัพธ์ของการใช้เครื่องช่วยฟังทั้งรุ่นท็อปและรุ่นพื้นฐานคือ ทั้งสองรุ่นให้ประโยชน์ได้ไม่ต่างกันในทุกกลุ่ม (COSI,SSQ,HINT) แม้จะเป็นผลการทดสอบการฟังในเสียงรบกวนก็ไม่ต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทุกคนเลือกเครื่องรุ่นท็อปโดยที่ไม่รู้ว่ามันคือรุ่นท็อป และเมื่อถามคำถามว่าจะยอมจ่ายเงินเพิ่มอีก $200 เพื่อใช้เครื่องรุ่นท็อปหรือไม่ คำตอบของทุกคนคือ ยอมจ่าย (แต่จะไม่ยอมเมื่อเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มมากกว่า $500)
เราอาจจะโต้แย้งว่าการศึกษานี้เป็น single-blinded (ถึงคนใส่เครื่องจะไม่รู้ว่าเครื่องไหนเป็นรุ่นอะไร แต่ ดร.ออลเซน รู้ ซึ่งอาจส่งผลให้มี bias ได้) ส่วนตัวในฐานะที่เคยเป็น research engineer ด้าน acoustic ผมเชื่อว่าเรายังไม่มีเครื่องมือวัดที่มีความไว (sensitivity) มากพอที่จะวัดประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีให้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่การที่คนยอมจ่ายเพิ่ม $200 เพื่อใช้รุ่นที่ดีกว่ามันต้องมีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในนั้น และเหตุผลเดียวที่ผมคิดว่าเราไม่ควรซื้อเครื่องช่วยฟังรุ่นที่ดีที่สุดคือเรื่องเงิน เพราะมันคงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้เครื่องรุ่นที่ดีแต่ต้องมาใช้ชีวิตอย่างลำบากในด้านอื่น ๆ
ไม่มีเครื่องช่วยฟังที่ดีที่สุด
มีแต่เครื่องที่เหมาะกับเราที่สุด
Comments