top of page

เปลี่ยนมือถือให้เป็นเครื่องช่วยฟังด้วยแอป


แอปเครื่องช่วยฟัง

PHONE-BASED HEARING AID หรือการใช้โทรศัพท์มือถือในการขยายเสียงแทนเครื่องช่วยฟังเป็นแนวคิดที่ผมติดตามมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพราะว่าตอนนั้นเครื่องช่วยฟังไม่ใช่ของที่หาซื้อได้ง่ายเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งถ้าเราดูเฉพาะหน้าที่หลักของเครื่องช่วยฟังที่มีเพียงแค่ 4 เรื่องที่ต้องทำ คือ


  1. ทำให้เสียงดังขึ้น มาก-น้อย ต่างกันได้ในแต่ละช่วงความถี่

  2. ทำให้เสียงที่เบาดังขึ้นโดยที่ไม่ทำให้เสียงที่ดังอยู่แล้วดังเกินไป

  3. กรองเสียงที่เราไม่อยากฟังออกไป แล้วเหลือไว้แต่เสียงที่เราอยากฟัง

  4. กรองเสียงที่ถูกทำให้ดังขี้นแล้วออกไม่ต้องเอามาขยายอีกรอบ เดี๋ยวมันจะดังวี้ด


ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่เหนือความสามารถของโทรศัพท์มือถือเลย แต่จะทำอย่างไรให้โทรศัพท์มือถือขยายเสียงได้พอเหมาะพอดีกับหูของเราต่างหาก ที่เป็นเรื่องที่ยากกว่าในเวลานั้น


เพื่อให้เครื่องช่วยฟังทำงานได้เหมาะสมกับการได้ยินของแต่ละคน ขั้นตอนในการใส่เครื่องช่วยฟังปกติจึงมีอยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ


  1. การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาระดับการได้ยิน

  2. การกำหนดกำลังขยายของเครื่องช่วยฟัง (เหมือนกับขนาดยาที่คุณหมอบอกให้เราทานเวลาไม่สบาย)

  3. การติดตามและปรับเสียงให้เข้าที่เข้าทางสำหรับแต่ละคน


เมื่อเป็นเช่นนี้เราไปดูกันดีกว่าว่าผ่านมา 10 ปีแล้ว ตอนนี้แอปที่ทำให้มือถือเรากลายเป็นเครื่องช่วยฟังมันก้าวหน้าไปขนาดไหน





PETRALEX แอปเครื่องช่วยฟังที่ดีที่สุด


หลังจากที่เมื่อวานนี้มือลั่นไปกดซื้อแอปนี้ในเวอร์ชั่นเต็มที่ราคาเดือนละ 400 บาทเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ เลยคิดว่างั้นเอามาเล่าให้ฟังก็แล้วกันว่ามันเป็นอย่างไรหลังจากได้ลองใช้งาน


หากท่านใดต้องการทดลองใช้ แนะนำว่าให้ใช้เวอร์ชั่นฟรีก่อนนะครับ ถ้าต้องการความช่วยเหลือในการติดตั้งหรือปรับเสียงเพื่อลองใช้งานบอกได้เลยนะครับ ไม่มีค่าบริการ นัดเวลาทาง Line หรือกรอกข้อมูลติดต่อด้านล่างนะครับ


เริ่มต้นด้วยขั้นตอนการใช้งานเลยนะครับ


เริ่มด้วยการวัดระดับการได้ยินที่เราต้องใส่หูฟังจะเป็นแบบสายหรือไร้สายก็ตามที่เราสะดวก เราแค่ต้องกดปุ่มเวลาที่เราได้ยินเสียง ใช้เวลาประมาณ 2 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย



แอปเครื่องช่วยฟัง

เสร็จแล้วแอปจะคำนวนกำลังขยายที่เหมาะสมแล้วปรับเสียงให้เราสำหรับสภาพแวดล้อมลักษณะนี้แล้วเก็บไว้เป็นโปรไฟล์ โดยเราต้องตั้งชื่อโปรไฟล์ว่าเราจะเรียกมันว่าอย่างไร เพื่อให้เราสามารถกลับมาใช้การตั้งค่านี้ได้สะดวก



แอปเครื่องช่วยฟัง


หลังจากนั้นเราก็จะได้เห็นผลการได้ยินและอ่านคำอธิบายเกี่ยวกับการได้ยินของเรา


แอปเครื่องช่วยฟัง

จากนั้นเราก็จะถูกพาไปที่หน้าหลักสำหรับการใช้งาน ซึ่งในหน้านี้เราสามารถเลือกได้ทั้ง

  1. ไมค์โครโฟนที่จะใช้รับเสียง (โทรศัพท์ หรือ สมอลทอล์ค หรือ หูฟังบลูทูธ)

  2. ความไวในการรับเสียงของไมค์โครโฟน (Input Gain)

  3. เปิด-ปิด ระบบตัดเสียงรบกวน

  4. ปรับ เพิ่ม-ลด กำลังขยายรวม


แอปเครื่องช่วยฟัง
บอกตามตรงว่าตอนที่ทดลอง ผมรู้สึกว้าวกับคุณภาพเสียงมาก และยิ่งว้าวมากไปอีกกับความสามารถในการตัดเสียงรบกวน

การปรับแบบละเอียดสามารถทำได้ไม่ต่างจากเครื่องช่วยฟังราคาแพงเลย มีทั้ง

  1. Frequency Compression - ย้ายเสียงความถี่สูงลงมาอยู่ในช่วงความถี่ต่ำลงสำหรับคนที่มีการสูญเสียการได้ยินที่เสียงสูง

  2. Tinnitus Masking - ปล่อยสัญญาณเสียงกลบเสียงดังในหู

  3. Noise Adaptation - ปรับ input/output compression ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม

  4. Amplification - สูตรการคำนวนกำลังขยายที่เราสามารถเลือกได้ (บ้านเราผู้เชี่ยวชาญมักจะใช้ NAL)

  5. Noise Suppression - ปรับระดับการทำงานของระบบลดเสียงรบกวน (ดีมาก)

  6. Compression - ปรับระดับการบีบอัดเสียงให้เหมาะสมกับการได้ยิน (เสียงเบาก็ได้ยิน เสียงดังก็ไม่ดังเกิน)

  7. และอื่น ๆ อีกมากมาย


แอปเครื่องช่วยฟัง

แอปเครื่องช่วยฟัง


หลังจากที่ได้ทดลองใช้มาสักพักผมมีสิ่ง ที่ประทับใจ และ ไม่ไม่ประทับใจ ดังนี้ครับ


ประทับใจ

  1. คุณภาพเสียง - ถ้าเป็นเครื่องช่วยฟังการประหยัดพลังงานเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ดังนั้นการออกแบบชิปประมวลผลของเครื่องช่วยฟังจึงต้องใช้ Low-pass filter เพื่อให้ความเร็วในการทำงานของ CPU ไม่สูงเกินไปจนถ่านหมดในเวลาไม่นาน แต่พอเป็นมือถือแล้วการเข้ารหัสที่อย่างน้อย 44.1 kHz ทำให้สเปคตรัมของเสียงที่ถูกประมวลผลไม่ได้ถูกจำกัด บอกเลยว่า ว้าวจริงครับ

  2. ระบบตัดเสียงรบกวน - เหมือนเอายางลบมาลบเสียงรบกวนออกไปเลย หายเกลี้ยง!

  3. ความแม่นยำในการวัดการได้ยิน - แอปใช้สภาพแวดล้อมและลักษณะหูฟังที่เราใช้มาเป็นตัวแปรในการปรับการทำงาน ซึ่งเราสามารถสร้างโปรไฟล์สำหรับฟังเสียงในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง แล้วก็ใช้เวลาในการวัดการได้ยินไม่ถึง 2 นาที เป็นอัลกอริทึมที่ดีมากในความเห็นของผม


ไม่ประทับใจ

  1. ดีเลย์ (เสียงมาช้านิด ๆ พอให้รู้สึกได้) - การที่แอปประมวลผลเสียงได้เนี๊ยบมากก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน ตรงที่เสียงที่เราได้ยินจะช้ากว่าที่ควรจะเป็นนิดนึงเนื่องจากการที่ต้องประมวลผลก่อน ถึงจะช้าไปเพียงไม่กี่มิลลิวินาที แต่ส่วนตัวผมรู้สึกรำคาญนิด ๆ ครับ

  2. การแปลแอปเป็นภาษาไทย - ถ้าใช้แอปนี้เป็นภาษาไทยผมคิดว่าน่าจะงงกันหมดว่าแต่ละปุ่มหมายถึงอะไรกันแน่ แต่ก็เป็นเพียงปัญหาเล็กน้อย ใช้ไปสักพักก็ไม่น่าเป็นปัญหาแล้วครับ ตัวอย่างตามรูปด้านล่างสุดนะครับ



แอปเครื่องช่วยฟัง

สรุปความเห็นจากที่ไ้ด้ทดลองใช้ ผมประทับใจกับความสามารถของแอปโดยเฉพาะอัลกอริทึมในการตรวจวัดการได้ยินและปรับเสียงให้เหมาะสม นอกจากนั้นการตัดเสียงรบกวนที่ใช้ CPU ของโทรศัพท์ ยังไงเครื่องช่วยฟังก็สู้ไม่ได้อยู่แล้ว มีแค่เรื่องเดียวที่ทำให้รู้สีกว่าใช้แล้วไม่ราบรื่นคือ ระยะเวลาในการประมวลผลที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเสียงที่ได้ยินมันมาช้ากว่าที่ควรจะเป็นนิดนึง แต่ก็พอให้รำคาญใจครับ


ปล. ผมใช้ Samsung Note 10 เก่า ๆ ในการทดลอง เชื่อว่าถ้าเป็น iPhone โดยการออกแบบแล้ว เรื่องเสียงดีเลย์น่าจะน้อยกว่าครับ


ใครที่ยังไม่มีเครื่องช่วยฟัง การใช้มือถือให้เป็นเครื่องช่วยฟังด้วยแอป ก็เป็นทางเลือกที่น่าลองนะครับ




หากท่านใดต้องการทดลองใช้ แนะนำว่าให้ใช้เวอร์ชั่นฟรีก่อนนะครับ ถ้าต้องการความช่วยเหลือในการติดตั้งหรือปรับเสียงเพื่อลองใช้งานบอกได้เลยนะครับ ไม่มีค่าบริการ นัดเวลาทาง Line หรือกรอกข้อมูลติดต่อด้านล่างนะครับ





หูขวาคล่องแคล่ว กำบังหูอื้อ และ ยอดชำระ

ถ้าหากเจอตัวคนแปลช่วยบอกหน่อยนะครับ

อยากคุยด้วยจริง ๆ


Comments


ติดต่อเรา

ขอบคุณครับผม

เครื่องช่วยฟังยิ้ม เพื่อการฟังอย่างมีความสุข

bottom of page