top of page

ประสาทหูเสื่อม เราสูญเสียอะไรเวลาที่เราสูญเสียการได้ยิน ตอนที่ 2

อัปเดตเมื่อ 29 ก.ย. 2567


คนเสื้อเหลืองยืนริมหน้าผา

เวลาที่เราฟังได้ไม่ดีเหมือนเดิมเพราะว่าหูของเราไม่ยอมทำงานอย่างที่มันควรจะทำ หรือที่เรียกว่าประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง เรารู้ดีว่ามันไม่ใช่แค่ไม่ได้ยินเสียงอะไรเบา ๆ หรือได้ยินคนพูดเบาลง แต่มันเหมือนชิ้นส่วนของประโยคที่ถูกทำให้หายไปเวลาที่คนพูดกับเรา ชิ้นส่วนที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจความหมายของถ้อยคำเหล่านั้น


อย่างที่เคยเล่าไปในบทความ เราสูญเสียอะไรเวลาที่เราสูญเสียการได้ยิน ตอนที่ 1 ถึง 4 ความสามารถในการฟังที่ลดลง เวลาที่เราสูญเสียการได้ยิน คือ

  1. การรับรู้เสียงที่ลดลง (decreased audibility)

  2. การรับรู้ความแตกต่างของเสียงตั้งแต่ เบาที่สุดไปถึงดังที่สุดของเราแคบลง (decreased dynamic range)

  3. การรับรู้ความแตกต่างของความถี่ต่าง ๆ ลดลง (decreased spectral resolution)

  4. การรับรู้ความแตกต่างของเสียงเมื่อเวลาผ่านไปลดลง (decreased temporal resolution)

วันนี้เลยจะมาเล่าต่อถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ การรับรู้ความแตกต่างของความถี่ต่าง ๆ ลดลงนะครับ (decreased spectral resolution)



สำหรับมนุษย์เรานั้น อวัยวะที่ทำหน้าที่เปลี่ยนการสั่นสะเทือนเป็นสัญญาณประสาทเพื่อส่งไปที่สมองและทำให้เรารับรู้ได้ว่ามันคือ “เสียง” ได้วิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการสั่นสะเทือนที่มีจังหวะหรือความถี่ตั้งแต่ประมาณ 20 ครั้งต่อวินาที ไปถึง 20000 ครั้งต่อวินาที (20Hertz – 20000Hertz) โดยการสั่นสะเทือนในบางช่วงความถี่จะได้รับการตอบสนองจากอวัยวะของเรารวดเร็วเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น

เราจะรับรู้ถึงเสียงที่มีความถี่ประมาณ 2000Hertz – 4000Hertz (เสียงจิ้งหรีด เสียงผิวปาก) ได้ถึงมันจะมีพลังงานเบาบางมาก ในขณะที่เสียงที่มีความถี่ต่ำกว่านั้นต้องมีพลังงานมากกว่ามากเราถึงจะรับรู้มันได้



ใบไม้และเงา

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้คงได้แต่เดาว่า ช่วงความถี่ดังกล่าวมันมีความสำคัญกับการเอาตัวรอดของบรรพบุรุษของเรา มันอาจจะเป็นช่วงความถี่ที่เราสามารถใส่ข้อมูลที่เราต้องการสื่อความหมายเข้าไปได้โดยที่ไม่ทำให้สัตว์นักล่ารู้ว่าเราอยู่ใกล้ ๆ (แล้วถูกจับไปกิน) แล้วยังเป็นช่วงความถี่่ที่มีประสิทธิภาพมากพอสำหรับการสื่อสารในระยะไกล (เท่าที่จำเป็น) โดยที่ขนาดหัวของเราไม่จำเป็นต้องใหญ่เท่ากับหัวของวาฬเพื่อที่จะเข้าถึงการใช้เสียงในช่วงความถี่นั้น


กลับมาที่เรื่องการได้ยินของเรา เนื่องจากทั้งขนาดของช่องหูและวัสดุที่ธรรมชาติใช้ในการสร้างส่วนต่าง ๆ ของหูเรา ที่เมื่อรวมกันทำให้เราได้ยินเสียงในความถี่สูงได้ดีเป็นพิเศษ นั่นก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราสูญเสียการได้ยินในช่วงความถี่นั้นได้ง่ายเป็นพิเศษเช่นกัน

(สาเหตุที่ทำให้สูญเสียการได้ยินมีหลายสาเหตุและไม่ได้อยู่ในสโคปของบทความนี้นะครับ)

ทีนี้เราจะมาดูกันว่าเวลาที่เราสูญเสียความสามารถในการรับรู้ความแตกต่างของความถี่เสียงมันจะส่งผลต่อการฟังของเราอย่างไรจริง ๆ แล้ว


ผมขอยกตัวอย่างด้วยคำที่เราคุ้นเคยคือคำว่า “สวัสดี”


กราฟที่แสดงถึงระดับพลังงานของเสียง
กราฟที่แสดงถึงระดับพลังงานของเสียงที่ความถี่ต่าง ๆ ในคำว่า “สวัสดี”

คำว่า สวัสดี ประกอบด้วย พยางค์ทั้งหมด 3 พยางค์ คือ สะ-หวัด-ดี แต่ถ้าเรามองลึกลงไปอีกจนถึงหน่วยย่อยที่เรียกว่า โฟนีม เราจะเห็นว่าในหนึ่งพยางค์นั้นสามารถประกอบขึ้นจากหลายโฟนีม ถ้าสังเกตตรงพยางค์ สะ ก่อนหน้านั้นนิดนึงคือเสียง ส. (เสียงลมลอดฟัน) ซึ่งอยู่บริเวณช่วงความถี่สูง ดังนั้นหากเราสูญเสียความสามารถในการแยกแยะความถี่ที่แตกต่างกันในช่วงความถี่นี้ ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงของลมที่ลอดฟันออกมา คำว่า “สวัสดี” ก็อาจจะฟังดูไม่ต่างอะไรกับคำว่า “อวดดี”


สำหรับคนที่ใช้เครื่องช่วยฟัง แน่นอนว่าเราต้องการให้เครื่องช่วยฟังขยายเสียงในความถี่ที่เราอาจจะได้ยินน้อยกว่าปกติ เพื่อให้สมองของเรามีจิ๊กซอว์ชิ้นที่ขาดหายไปแล้วสามารถแปลความหมายของสิ่งที่ได้ยินได้ แต่การที่เครื่องช่วยฟังขยายเสียงในความถี่นั้น ๆ ให้ดังขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พลังงานของเสียงในความถี่นั้นจะมากจนอาจจะสามารถบดบังความถี่ข้างเคียงที่เราไม่ได้มีการสูญเสียการได้ยินก็ได้ ยิ่งในกรณีที่เรามีการสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากเซลล์ขนหูชั้นใน (IHC) หรือ dead region การพยายามเพิ่มกำลังขยายเข้าไปก็เหมือนกับการพยายามเอาจิ๊กซอว์อันใหญ่ของภาพคนละภาพมาใส่ในช่องที่ขาดหายไปของภาพเดิม ซึ่งไม่ได้มีผลดีอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว เทียบกับการปล่อยให้สมองของเราเรียนรู้วิธีการมองภาพ ๆ นั้นให้ได้ถึงแม้ว่าจะมีจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไปยังดีเสียกว่าครับ


ปกติแล้วในการประเมินว่าเรามีการสูญเสียความสามารถในการรับรู้ความแต่ต่างของความถี่เสียงหรือ frequency resolution จะใช้การตรวจที่เรียกว่า threshold equalizing noise test procedure หรือ TEN Test ซึ่งในเครื่องตรวจการได้ยินรุ่นใหม่ ๆ จะมีติดมาด้วย ซึ่งถ้าทำร่วมกับการตรวจ loudness growth function ในแต่ละความถี่แล้ว จะช่วยทำให้การปรับเครื่องช่วยฟังมีความแม่นยำมากขึ้นเหมือนกับเราสั่งทำจิ๊กซอว์ชิ้นที่หายไปมาใส่แทนครับ


แล้วจะมาเล่าต่อเกี่ยวกับการรับรู้ความแตกต่างของเสียงเมื่อเวลาผ่านไปลดลง (decreased temporal resolution) ที่ส่งผลมากที่สุดต่อการฟังโดยเฉพาะกับพวกเราที่ภาษาไทยนะครับ ครั่บ ครั้บ ประสาทหูเสื่อม



 
 
 

Comments


ติดต่อเรา

ขอบคุณครับผม

เครื่องช่วยฟังยิ้ม เพื่อการฟังอย่างมีความสุข

bottom of page