top of page

จิ๊กซอว์การได้ยิน - คำอธิบายเกี่ยวกับการได้ยินและเครื่องช่วยฟัง

  • 15 ก.ค. 2566
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 20 ก.ค. 2566


มือต่อจิ๊กซอว์การได้ยิน
จิ๊กซอว์การได้ยิน

กราฟการได้ยินหรือออดิโอแกรม เป็นวิธีส่งข้อมูลเกี่ยวกับการได้ยินของเราระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่มีประสิทธิภาพมาก มากถึงขนาดที่แทบจะไม่มีการปรับปรุงเลยตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง


แต่สำหรับเราคนที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ การทำความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของกราฟการได้ยินที่มีต่อชีวิตเรา (และคนที่เรารัก) น่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร


ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินส่วนใหญ่มักเลือกที่จะใช้ออดิโอแกรมในการอธิบายผลตรวจให้เราเข้าใจ แต่กลับมีพวกเราเพียงไม่กี่คนที่ฟังแล้วสามารถกลับไปเล่าให้กับคนที่บ้านเข้าใจได้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่งเพราะ หากคนรอบตัวไม่เข้าใจถึงข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับตัวเรา แล้วเราจะหวังให้เขาปรับเปลี่ยนหรือเข้าใจความรู้สึกของเราได้อย่างไร


คำถามคือ แล้วเราจะมีวิธีอธิบายเรื่องการได้ยินอย่างไรที่คนจะเข้าใจมันได้ดีขึ้น ถึงจะไม่มีวิธีที่สามารถใช้ได้กับทุกคน ก็คงต้องหาไปเรื่อย ๆ ถ้าหากวิธีที่ใช้อยู่เป็นวิธีที่ล้มเหลว


ถ้าหากเรามองว่าการสนทนาก็คือ การเอาความคิดของคนหนึ่งไปใส่ในหัวของอีกคนโดยใช้ “เสียง”


เราก็อาจจะสามารถมองว่าการฟังมันก็เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ ที่ “ภาพบนกล่องจิ๊กซอว์” ก็คือความคิดที่เราต้องการเอาไปใส่ในหัวของคนอื่นก็ ในขณะที่ “จิ๊กซอว์ที่อยู่ในกล่อง” คือ เสียงที่เราใช้พูดคุยกัน

ดังนั้นการที่มีใครพูดกับเราก็เหมือนกับเขาได้โยนจิ๊กซอว์ที่อยู่ในกล่องมาให้เรา โดยเขาอาจจะโยนมาพร้อมภาพบนกล่องหรือไม่โยนภาพบนกล่องมาด้วยก็ได้


สวิงช้อนจิ๊กซอว์การได้ยิน
สวิงช้อนจิ๊กซอว์เสียง

เรามีหน้าที่ใช้ “หูของเรา” เป็นเหมือนสวิงจับปลาในการรับจิ๊กซอว์ที่เขาโยนมา เราอาจจะรับจิ๊กซอว์ได้ครบทุกชิ้นหรือทำหล่นไปบ้างก็แล้วแต่กรณี แต่ไม่ว่ากรณีไหนสมองของเราก็จะทำหน้าที่ต่อจิ๊กซอว์เหล่านั้นกลับมาเป็นภาพต้นฉบับเหมือนกับที่อยู่บนกล่อง เพราะนั่นคือ


ความหมายของสิ่งที่เขาสื่อสารและต้องการให้เราเข้าใจ


ในชีวิตจริงถ้าเราโยนจิ๊กซอว์จำนวนสักหนึ่งกำมือให้ใครรับ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีชิ้นที่ร่วงลงพื้น ยิ่งถ้ายืนอยู่ห่างกันออกไปก็คงมีจิ๊กซอว์หลายชิ้นที่ถูกลมพัดปลิวไปทางอื่น หรือถ้ามีคนสักสิบคนโยนจิ๊กซอว์พร้อมกันเหมือนกับเวลาที่เราต้องฟังคนหลาย ๆ พูดพร้อมกัน สวิงของเราก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ช้อนเอาจิ๊กซอว์ของคนอื่นมาด้วย


อย่างไรก็ตามถึงจิ๊กซอว์ที่เราได้มาจะไม่ครบทุกชิ้น หรืออาจจะมีส่วนเกินจากภาพของคนอื่นที่ปะปนเข้ามา แต่สมองของเราก็สามารถหยิบยืมข้อมูลจากความทรงจำของเราเพื่อเอามาเปรียบเทียบเพื่อดูว่า จิ๊กซอว์ที่รวบรวมมาได้นั้น มันควรจะเป็นภาพอะไรกันแน่


อาจจะง่ายหน่อยถ้าคนที่คุยกับเราเขาโยนกล่องจิ๊กซอว์มาให้เราด้วย แต่ถ้าไม่...มันก็เหมือนกับเวลาที่คนอื่นเปลี่ยนเรื่องที่คุยกันโดยที่ไม่ได้บอกกับเรา ที่เราต้องพยายามคาดเดาเอาเองว่าจิ๊กซอว์ที่กำลังต่ออยู่นั้น มันคือภาพของอะไร


ส่วนการสูญเสียการได้ยินก็คงจะเหมือนการที่สวิงของเรามีรูรั่วพอให้จิ๊กซอว์ชิ้นเล็กที่ช้อนมาได้ร่วงตกลงไป ยิ่งรูรั่วใหญ่แค่ไหนจิ๊กซอว์ที่เหลืออยู่ในสวิงก็น้อยลงจนบางครั้งไม่เพียงพอที่สมองของเราจะประติดประต่อออกมาเป็นภาพได้


นอกจากนี้ยังมีอีก 2-3 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับการต่อจิ๊กซอว์ที่เราต้องตระหนักและเข้าใจมันสักนิด นั่นคือ


working memory หรือ พื้นที่บนโต๊ะทำงานที่สมองของเราต้องใช้เพื่อทั้งต่อจิ๊กซอว์ ไม่ก็เอาวางภาพเก่า ๆ ที่ขนมาจากความทรงจำ เรื่องถัดมาก็คือ


cognitive load หรือปริมาณเนื้องาน ที่สมองเราต้องเจอ ขึ้นอยู่กับจำนวนจิ๊กซอว์ที่รวบรวมมาได้ว่ามีความครบถ้วมมากหรือน้อย ถ้าครบถ้วนดี ปริมาณงานของสมองที่ต้องทำก็จะมีไม่มาก แต่ถ้าจิ๊กซอว์ที่ได้มานั้นถูกยำรวมมากกับอะไรที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น เสียงรบกวน หรือ คำพูดที่ไม่คุ้นเคย cognitive load หรือปริมาณงานก็มากขึ้นตามไปด้วย และเมื่องานเยอะจนไม่มีพื้นที่บนโต๊ะเหลือ


cognitive stamina หรือแบตเตอรี่ของสมองเรา ก็จะหมดลงอย่างรวดเร็ว จนบางเราก็รู้สึกเหนื่อยทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไร แต่เราได้ใช้พลังงานทั้งหมดของเราไปกับการพยายามเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูดกับเราจนไม่มีพลังงานเหลือสำหรับเรื่องอื่นอีกแล้ว


แล้วเครื่องช่วยฟังล่ะ...มันไปอยู่ที่ไหนตอนที่เราต่อจิ๊กซอว์

สำหรับเครื่องช่วยฟังนั้นมันทำอยู่ 2 หน้าที่

หน้าที่แรกคือทำให้จิ๊กซอว์ทุกชิ้นมีขนาดใหญ่ขึ้น

จิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ก็จะถูกขยายให้ใหญ่มากพอที่จะไม่รอดรูรั่วของสวิงแล้วตกหายไป


แต่บางทีชิ้นที่มันใหญ่อยู่แล้วก็ดันถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นไปอีกจนบางครั้งเรารู้สึกว่า เสียงมันดังจนน่ารำคาญ

มือต่อจิ๊กซอว์การได้ยิน
มือต่อจิ๊กซอว์การได้ยิน

ส่วนอีกหน้าที่ของเครื่องช่วยฟังคือ คอยช่วยจัดเรียงจิ๊กซอว์ คอยเอาชิ้นที่สีเหมือน ๆ กันไว้ด้วยกัน คอยช่วยหาชิ้นที่เป็นขอบหรือชิ้นที่เป็นมุมมากองรวม ๆ กันไว้ เพื่อให้สมองของเราหยิบมาต่อออกมาเป็นภาพได้ง่ายขึ้น



แต่เครื่องช่วยฟังมันไม่รู้หรอกว่า ต้องจัดกลุ่มจิ๊กซอว์แบบไหนที่จะทำให้การต่อจิ๊กซอว์มันง่ายสำหรับเรา


การเอาชิ้นที่เป็นขอบและมุมมากองรวมกันไว้ ไม่ได้ช่วยสมองที่ชอบต่อจิ๊กซอว์จากตรงกลางก่อนให้สามารถต่อได้ง่ายขึ้น


เหมือนกับที่ผู้เชี่ยวชาญชอบบอกเราว่า เครื่องช่วยฟังถูกปรับไว้เหมาะสมดีแล้ว เราต้องปรับตัวเพื่อใช้มันให้ได้


ไม่ยอมให้เราใช้วิธีต่อที่เริ่มจากตรงกลางของภาพก่อน ทั้งที่มันอาจจะเป็นวิธีเดียวที่เราพอจะต่อจิ๊กซอว์ให้ออกมาเป็นภาพได้

“เหมาะสมดีแล้ว” เป็นสิ่งที่ต้องพูดโดยคนที่ต่อจิ๊กซอว์ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากจะมองว่าคนที่ต่อจิ๊กซอว์คือ คนที่เชี่ยวชาญที่สุดในการได้ยินของเขา


หวังว่าคำอธิบายเกี่ยวกับการได้ยินและเครื่องช่วยฟังนี้จะเป็นประโยชน์นะครับ










 
 
 

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
เครื่องช่วยฟังพังเพราะความชื้น ซ่อมไม่ได้ด้วย

บทความนี้ ผมตั้งใจเล่าเรื่อง “ความชื้น” แบบจริงจัง เพราะว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนชื้นแบบเรา อาจไม่ทันรู้ตัวว่าเรื่องนี้มันสำคัญพอ ๆ...

 
 
 

Comments


ติดต่อเรา

ขอบคุณครับผม

เครื่องช่วยฟังยิ้ม เพื่อการฟังอย่างมีความสุข

bottom of page