เครื่องช่วยฟัง - เครื่องละพัน / เครื่องละหมื่น / เครื่องละแสน
- วิชนาถ โกมลกนก
- 10 ธ.ค. 2564
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 18 ต.ค. 2565
ตอนที่ 1

เวลาที่เรามีปัญหาการได้ยินแล้วไปโรงพยาบาล เราจะได้รับคำแนะนำเรื่องการใช้เครื่องช่วยฟังราคาหลักหมื่นขึ้น แต่ทำไมพอกลับมาบ้านแล้วกูเกิ้ลคำว่า เครื่องช่วยฟัง เรากลับเจอเครื่องช่วยฟังราคาตั้งแต่ไม่กี่ร้อยไปจนถึงหลายพันบาท ที่ดูแล้วก็หน้าตาเหมือนกัน แล้วถ้ามันเหมือนกันเราจะจ่ายเงินซื้อเครื่องที่ราคาแพงไปทำไม?
มันไม่ได้เหมือนกันนะครับ แต่ไม่ได้แปลว่าอันไหนดีหรือไม่ดี
เนื่องจากอุปกรณ์ด้านการได้ยินมีหลายประเภท เช่น PSAPs, เครื่องช่วยฟังที่ไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ และเครื่องช่วยฟังที่เป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้แต่ละประเภทมีคุณสมบัติและประโยชน์ที่แตกต่างกัน แต่ในบ้านเรายังไม่ได้มีการแบ่งประเภทให้เหมาะสมตามลักษณะการใช้งาน จึงทำให้เกิดการใช้งานผิดประเภทและเข้าใจผิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอุปกรณ์เหล่านี้
ถ้าอย่างนั้นเรามีทางเลือกอะไรบ้าง?
PSAPs

อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ที่ช่วยให้เราฟังได้ดีขึ้นในบางสถานการณ์ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ชดเชยการสูญเสียการได้ยินของเรา และจะไม่ทำให้เราสามารถได้ยินชัดเจนเหมือนก่อนที่เราจะมีปัญหาการได้ยิน แต่ในหลาย ๆ สถานการณ์ PSAPs สามารถเพิ่มคุณภาพการได้ยินของเราได้อย่างมาก การเพิ่ม signal-to-noise ratio ก็เป็นหนึ่งในนั้น เช่น อุปกรณ์ประเภท streamer ที่ช่วยให้เราฟังเสียงจากทีวีได้โดยไม่มีเสียงอื่นมารบกวน หรือในความผิดปกติทางการได้ยินบางประเภทเช่น ANSD หรือ CAPD ที่ signal-to-noise ratio คือสิ่งสำคัญไม่ใช่เสียงที่ดังขึ้น อุปกรณ์อย่างไมโครโฟนที่ส่งเสียงไปที่ผู้ฟังโดยตรงสามารถช่วยได้อย่างมากเลยทีเดียว
OTC Hearing aids
เครื่องช่วยฟังที่ไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ สามารถซื้อมาใช้งานได้เอง (เหมือนเครื่องวัดความดัน/เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด) เครื่องช่วยฟังประเภทนี้มีการทำงานที่แทบจะเหมือนกับเครื่องที่ขายอยู่ในโรงพยาบาล สิ่งที่แตกต่างกันจะมีเพียงแค่การปรับกำลังขยายของเครื่องที่จะเป็นลักษณะ preset hearing profile หรือ ปรับกำลังขยายตามรูปแบบของโปรไฟล์การได้ยินที่พบบ่อย เช่น Flat, High-frequency loss, Ski/Reversed Ski slope วิธีใช้ก็คือกดเปลี่ยนโปรแกรมไปเรื่อย ๆ แล้วลองฟังดูว่าแบบไหนฟังได้ดีที่สุด แล้วก็ปรับความดังให้พอดี
อย่างไรก็ตามเนื่องจากเครื่องช่วยฟังชนิดนี้ถูกตั้งค่าไว้จากค่าเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่และไม่สามารถปรับอะไรได้นอกจาก ดังขึ้น-เบาลง หรืออาจะเปิด-ปิด การตัดเสียงรบกวนได้ในบางรุ่น จึงเป็นไปได้ที่บางครั้งการได้ยินของเรามันไม่ได้เป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ มันก็อาจจะได้กำลังขยายที่ไม่พอดี (กำลังขยายที่พอดีก็มาจากค่าเฉลี่ยอยู่ดี) จึงอาจจะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่หากเทียบกับเครื่องช่วยฟังแบบที่มีผู้เชี่ยวชาญปรับเสียงให้อย่างละเอียด และที่สำคัญเนื่องจากมันออกแบบไว้สำหรับการสูญเสียการได้ยินที่ไม่ได้รุนแรงหรือมีความซับซ้อน ดังนั้นหากการสูญเสียการได้ยินของเราค่อนข้างมาก การใช้เครื่องช่วยฟังแบบ OTC อาจจะช่วยเรื่องการฟังได้ไม่ดีเท่าที่ควร
Hearing aids
เครื่องช่วยฟังที่เป็นเครื่องมือแพทย์ หรือเครื่องช่วยฟังที่เราเห็นในโรงพยาบาล เครื่องช่วยฟังประเภทนี้ถูกออกแบบและทดสอบมาเพิ่มชดเชยการสูญเสียการได้ยินโดยเฉพาะ และเนื่องจากสามารถปรับกำลังขยายได้อย่างละเอียดจึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการใส่เครื่อง เครื่องช่วยฟังประเภทนี้มีค่าวิจัยและพัฒนา ค่าลิขสิทธิ์ ค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ ค่าใช้จ่ายในการรับประกัน ฯลฯ เป็นต้นทุนที่ต้องเพิ่มเข้าไปจึงทำให้มีราคาที่สูงกว่าเครื่องช่วยฟังแบบ OTC

แล้วเราจะใช้แบบไหนดี?
คำตอบสั้น ๆ คือ แบบที่ “ลองใช้" แล้วเราโอเค
แต่ถ้าเป็นคำตอบแบบยาวขึ้นหน่อย ก็คงจะเป็นการประเมินปัญหาการได้ยินของเราก่อน การไปตรวจการได้ยินโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่มีโรคอะไรที่รักษาได้ที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินก่อนยังเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าตรวจแล้วเราไม่ได้มีโรคอะไรและการสูญเสียการได้ยินของเราไม่ได้มีความซับซ้อนมาก
(เช่น Mixed HL, narrowed dynamic range หรือ ปัญหาเริ่มส่งผลต่อ temporal/spectral resolution )
ก็อาจจะลองเครื่องช่วยฟังประเภท OTC ก่อนก็ยังได้ ถ้าไม่โอเคค่อยขยับไปเป็นเครื่องช่วยฟังที่เป็นเครื่องมือแพทย์ หรือจะลองทั้งสองอย่างเลยก็ดูจะเป็นความคิดที่ดี สิ่งสำคัญคือ ช่วงเวลาทดลองเครื่องที่นานเพียงพอ และความคาดหวังที่เหมาะสมครับ
ส่วนจะเลือกใช้เครื่องแบบไหนดี ผมคิดว่าเริ่มจากตรวจการได้ยินก่อนให้แน่ใจว่าเราไม่ได้เป็นอะไรที่รักษาได้ แล้วเราลองเครื่องราคาไม่แพงก่อนก็ไม่ได้ผิดอะไร ถ้ามันโอเคมันก็คือโอเค เพราะไม่ว่าเราจะใช้เครื่องถูกหรือแพง มันจะมีสถานการณ์ที่เป็นปัญหาเสมอ (แตกต่างกันในแต่ละคน) อันนั้นเราค่อยแก้ด้วย PSAPs อีกที
*ที่อเมริกาผ่านกฎหมาย OTC Bill แล้วเมื่อหลายปีก่อน และเครื่องช่วยฟังที่ไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ได้รับการรับรองโดย US FDA แล้วในปี 2022 นี้ เครื่องช่วยฟังชนิด OTC นี้มีประโยชน์อย่างมากหากใช้งานให้เหมาะสม ที่สำคัญสามารถประหยัดงบประมาณในการซื้อเครื่องช่วยฟังได้อย่างมหาศาลและทำให้สามารถดูแลคนที่มีปัญหาการได้ยินได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น
**ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องช่วยฟังแบบ OTC แล้วจะทำให้การสูญเสียการได้ยินรุนแรงขึ้นไม่ควรถูกขยายเนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการมากมายที่ชี้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครทนฟังเสียงที่ดังขนาดนั้นได้โดยไม่ถอดเครื่องแน่นอน (สามารถดูได้จากสถิติคนที่ได้รับเครื่องช่วยฟังจากสิทธิผู้พิการ จำนวน 1 ใน 3 เลิกใช้เครื่องภายในปีแรกด้วยเหตุผลนี้ครับ
***การตรวจการได้ยินโดยผู้เชี่ยวชาญยังคงเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ โดยเฉพาะกรณีของคนที่สูญเสียการได้ยินจากโรคที่สามารถรักษาได้ครับ
留言