Binaural hearing I - ได้ยิน ครึ่งเดียว
- วิชนาถ โกมลกนก
- 5 เม.ย. 2567
- ยาว 1 นาที

หูซ้าย กับ หูขวา ของเรามีอะไรที่ต่างกัน?
อันที่จริงถ้าเราพูดถึงเรื่องของการได้ยิน สิ่งที่หูทั้งสองข้างของเราแตกต่างกันก็คงจะมีเพียงแค่ตำแหน่งของมันเท่านั้น แต่แค่นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้การฟังของมนุษย์เป็นเรื่องมหัศจรรย์
ถ้าเราสามารถบอกได้ว่าเสียง “เพล้ง” ที่ได้ยินเมื่อกี้คือ เสียงของจานเซรามิกที่ตกจากความสูงประมาณ 1.2 เมตร ลงไปกระแทกกับพื้นกระเบื้องในห้องครัวขนาด 3x4 เมตร แล้วแตกเป็นเสี่ยง โดยที่เราไม่ต้องหันไปมอง แม้ว่าตัวเราจะนั่งอยู่อีกห้องหนึ่งก็ตาม

เหมือนกับโลกที่เราเห็นเป็นสามมิติด้วยการใช้มุมมองที่ต่างกันเล็กน้อยของตาทั้งสองข้าง ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเท่านี้ก็เพียงพอให้สมองของเราใช้เพื่อวัดพาราแลกซ์แล้วสร้างออกมาเป็นโลกเสมือนที่มีครบทุกมิติให้เราเห็นอยู่ภายในหัวของเรา

เช่นเดียวกับการมองเห็น
สมองของเราก็ใช้ข้อมูลจากเสียงที่มาจากทั้งหูซ้ายและหูขวาในการรับรู้มิติของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา
เราใช้หูทั้งสองข้างเพื่อบอกตำแหน่งของเสียงในแนวระนาบได้อย่างแม่นยำ
เราใช้มันเพื่อแยกเสียงของสิ่งที่เราสนใจออกมาจากความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นได้โดยแทบไม่ต้องใช้ความพยายาม
เราทำได้แม้กระทั่งยัดความคิดของเราเข้าไปในหัวของอีกคนโดยใช้เพียงแค่การสั่นสะเทือนของอากาศในรูปของคลื่นที่เราเรียกว่า เสียง
ว่าแต่สมองของเราเปรียบเทียบอะไรกันแน่?
สิ่งที่ได้ยินจาก หูซ้าย และ หูขวา มีอะไรที่แตกต่างกัน?
ความดัง ถ้ามีคนยืนพูดกับเราอยู่ทางด้านซ้าย เสียงของเขาก็จะมาถึงหูซ้ายของเราด้วยพลังงานที่มากกว่าหูขวา เพราะระยะทางก็สั้น แถมยังไม่ต้องเดินทางทะลุหัวของเราเหมือนเวลาที่มันเดินทางไปถึงหูขวากระบวนการเปรียบเทียบความแตกต่างนี้มันเกิดขึ้นและเสร็จไปก่อนที่เราจะรับรู้ถึงเสียงนั้นด้วยซ้ำ เราเรียกความแตกต่างของความดังระหว่างสองข้างนี้ว่า Inter-aural loudness difference (ILD)
เวลาที่เสียงเดินทางมาถึง เสียงของคนที่พูดกับเราอยู่ทางด้านซ้ายเมื่อกี้ นอกจากมันจะมาถึงหูซ้ายด้วยความดังที่มากกว่าหูขวา มันยังมาถึงหูซ้ายก่อนหูขวาอีกด้วย ก็เหมือนเดิม เพราะระยะทางมันสั้นกว่า (เสียงใช้เวลาประมาณ 0.6 มิลลิวินาทีในการเดินทางประมาณ 20 เซนติเมตร หรือระยะห่างระหว่างหูสองข้างของเรา)เซลล์ประสาทที่อยู่ในนิวคลิไอหลักของระบบประสาทการได้ยินบริเวณ แลเทอรอล ซูพรีเรีย โอลีฟ (LSO) ของเราเชี่ยวชาญมากในการตรวจจับความแตกต่างของเวลาที่เสียงเดินทางมาถึงหูแต่ละข้าง ความแตกต่างของเวลาที่เสียงเดินทางมาถึงนี้เรียกว่า Inter-aural time difference (ITD)
ความถี่ เนื่องจากหัวของเราประกอบไปด้วยเนื้อเยื้อและกระดูกที่มีความหนาแน่นอยู่ประมาณหนึ่ง ทำให้เสียงบางความถี่สามารถเดินทางทะละหัวเรา บางความถี่ต้องเดินทางอ้อมหัว และบางความถี่ก็ไม่สามารถเดินทางไปถึงอีกฝั่งได้เลย ลักษณะความถี่ของเสียงที่ถูกบิดเบือนไปเมื่อต้องเดินทางผ่านหัวของเราเรียกว่า Head related transfer function (HRTF) HRTF หรือ ระดับพลังงานอะคูสติกที่ถูกบิดเบือนด้วยการเดินทางข้ามหัวของเรานี้ล่ะที่เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้สมองของเราทำให้สิ่งที่น่าอัศจรรย์ได้อย่างไร้ที่ติ
สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้เฉพาะเวลาที่เราฟังด้วยหูทั้งสองข้างที่จะมาเล่าต่อวันพรุ่งนี้
(เพราะว่าร้านกาแฟกำลังจะปิด) คือ
Binaural squelch
Binaural redundancy
ปล. บทความนี้ตั้งใจเขียนเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการได้ยินด้วยหูสองข้าง ที่ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายเครื่องช่วยฟัง การตัดสินใจเกี่ยวกับการใส่เครื่องช่วยฟัง การผ่าตัดประสาทหูเทียม หรือแม้กระทั้งการสูญเสียการได้ยินแบบข้างเดียว ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากการฟังสองข้างได้เช่นกัน
Comments